การติดตามประเมินผลนโยบายการสอนศีลธรรม จริยธรรม โดยพระภิกษุ สามเณร ในสถานศึกษา
บทคัดย่อ (Abstract)
ในการติดตามประเมินผลนโยบายการสอน ศีลธรรม จริยธรรมโดยพระภิกษุ สามเณร ในสถานศึกษา เป็นการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของสถานศึกษาในด้านครูพระสอนศีลธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อติดตามผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายให้พระภิกษุ สามเณร เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนศีลธรรม หรือการสอนจริยธรรม ในสถานศึกษา ว่าจะมีผลดีอย่างไรบ้างต่อผู้เรียน โดยจะศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการวิจัยเชิงประเมินผล และใช้รูปแบบการวิจัยแบบสำรวจ นอกจากนี้ ยังเป็นการค้นหารูปแบบที่ดี (Best Practice) ของการสอนศีลธรรมโดยครูพระในสถานศึกษา เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ที่จะช่วยให้การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมพระภิกษุ สามเณร เข้ามาจัดการเรียนการสอนศีลธรรม หรือการสอนจริยธรรม ในสถานศึกษาด้วย โดยใช้วิธีการถอดบทเรียน (Lesson learned)
วิธีการศึกษามี 3 ขั้นตอน คือ การติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรม โดยการศึกษาในเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การศึกษาเปรียบเทียบผลการสอนระหว่างกลุ่มที่เรียน (ศีลธรรม จริยธรรม) กับครูพระ และกลุ่มที่เรียนกับครูทั่วไป และการศึกษาในขั้นตอนสุดท้ายเป็นการศึกษากรณีศึกษา (Case study) เพื่อถอดบทเรียนและค้นหาปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรม ผลการศึกษาในทั้ง 3 ขั้นตอน มีดังนี้
ผลการติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย มีผลการปฏิบัติงานในระดับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ดังนี้
(1) ในภาพรวม ด้านหลักการและแนวทางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า โครงการนี้เป็นงานตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอ้างถึงแนวปฏิบัติของ ๕ หน่วยราชการ คือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ แต่ก็พบว่ามีการนิเทศในโรงเรียนมีน้อยมาก
(2) ผลการติดตามการดำเนินโครงการ (Performance monitoring) มีดังนี้
2.1 ด้านทรัพยากร (Resource) โครงการนี้ยังขาดทรัพยากรในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเงินสนับสนุนครูพระต่อเดือนยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย กล่าวคือ โครงการประสงค์ให้พระที่จำวัดอยู่ใกล้โรงเรียนเข้ามาสอน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ในความเป็นจริง พระหลายรูปต้องเดินทางมาสอนจากไกล ๆ การสอนของครูพระที่ขาดประสบการณ์ ควรมีครูพี้เลี้ยง เพื่อช่วยดูแลความสะดวก ในการติดต่อประสานงานกับโรงเรียนในเรื่องธุรการต่าง ๆ แต่หลายโรงเรียนไม่มีครูพี่เลี้ยงที่กำหนดให้ทำงานประสานกับครูพระอย่างชัดเจน
2.2 ด้านผลผลิต (Outputs) จากการปฏิบัติงานของครูพระสอนศีลธรรม ปรากฏผลการพัฒนา เปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่ชัดเจนในกลุ่มนักเรียนที่มีโอกาสเข้าเรียนกับครูพระ ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือ มารยาทไทย การพูดจาสุภาพ และถูกกาลเทศะ การลดพฤติกรรมก้าวร้าว ลดความเห็นแก่ตัว มีเมตตาสูงขึ้น เกิดความสงบ มีสติด้วยการทำสมาธิ รู้จักพิธีกรรมทางศาสนา ปฏิบัติได้จริง นักเรียนเห็นประโยชน์ในการเข้าค่ายฝึกอบรมธรรมะ โดยมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนกับครูพระ ตัดสินใจบวชเรียนทางปริยัติธรรม เมื่อได้ผ่านการบวชในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน นักเรียน ได้รู้จักสวดมนต์ และสวดทำนองสรภัญญะ หลายโรงเรียนได้ส่งเด็กเข้าประกวดจนได้รับรางวัลระดับต่าง ๆ จนถึงระดับชาติ นอกจากนั้นยังมีครูพระที่สอนแบบเข้มข้น เพื่อให้นักเรียนสอบธรรมศึกษา และได้ประกาศนียบัตร ธรรมศึกษาชั้นตรี-โท-เอก จำนวนมาก บางโรงเรียนมีอัตราการสอบผ่าน ถึง 100 %
2.3 โครงการนี้ทำให้เกิดครูพระต้นแบบ โดยพระสงฆ์หลายรูปที่ปฏิบัติการสอนได้อย่างยอดเยี่ยม สมควรยกย่องเป็นต้นแบบการสอน
2.4 ยังขาดแคลนครูพระในหลายพื้นที่ เพราะโครงการนี้จัดทำขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยมิได้มีการเตรียมครูพระอย่างเต็มที่ก่อนเข้าปฏิบัติงาน และมีงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนและนักเรียนที่ครูพระเข้าไปสอน
- ในด้านหลักสูตร ส่วนใหญ่ครูพระสอนตามหลักสูตรวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนและเป็นเพียงผู้ช่วยสอนได้เวลาน้อย เพราะครูประจำดำเนินการสอนเป็นส่วนใหญ่ บางระดับ เช่น ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่มีสาระพุทธศาสนาในหลักสูตร สถาบันต้องจัดการเรียนการสอนเสริม ไม่มีหน่วยกิต นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนศีลธรรม จริยธรรม เพราะไม่ส่งผลต่อ GPA หรือ ได้แค่ผ่านหรือตก นอกจากนั้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาบางพื้นที่สนใจธรรมศึกษามาก และเคยสอบได้จำนวนมาก แต่เมื่อไปสอบ O-net กลับสอบไม่ผ่าน หรือได้คะแนนต่ำ
- ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันระดับต่าง ๆ ด้านธรรมะ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนฝึกฝนตนเองด้านศีลธรรม จริยธรรม และวิถีปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา มีการเตรียมตัวเข้าสู่สนามแข่งขันระดับต่าง ๆ ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เขต และระดับประเทศ เช่น การสวดสรภัญญะ มารยาทไทย เป็นต้น และควรนับผลการแข่งขัน เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่ดีประการหนึ่ง
2.5 คุณภาพการสอน สรุปได้ 3 ด้าน คือ
- ครูพระสอนประวัติพระพุทธเจ้า โดยเน้นการใช้สื่อที่ผลิตขึ้นโดยภาคเอกชน เช่น ภาพยนตร์ ซีดีรอม และภาพพระพุทธประวัติที่เป็นโปสเตอร์ การสอนสาระในฐานะองค์ความรู้ แต่มีจุดด้อยที่ไม่สามารถช่วยในการปรับพฤติกรรมของผู้เรียนได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังพบว่ามีครูพระหลายคนเข้ามาในโครงการ แต่ไปสอนวิชาอื่นด้วย ที่พบมาก คือ สอนภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ซึ่งถือว่าเป็นการรับค่าตอบแทนไปใช้ในงานที่ผิดวัตถุประสงค์ และไม่เกิดสัมฤทธิผลตามเป้าหมายโครงการ
- มีครูพระจำนวนมากสอนโดยการบรรยาย อาศัยตำรา และให้นักเรียนท่องจำ ข้อเท็จจริง เช่น วันวิสาขบูชาขึ้นกี่ค่ำ วันมาฆบูชามีพระสงฆ์มาประชุมกี่รูป เป็นต้น คือ สอนแบบวิชาประวัติศาสตร์โบราณที่ไม่เอื้อให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ทางศีลธรรม จริยธรรม และทำให้เด็กเบื่อหน่ายในการเรียนการสอนศีลธรรมเป็นเรื่องของ “จิตพิสัย” (affective domain) มิใช่ปัญญาพิสัย (cognitive domain) การสอนศีลธรรมต้องใช้วิธีการปรับอีคิว (EQ) มิใช่การท่องจำข้อเท็จจริง
- จุดเน้น (focus area) ครูพระส่วนใหญ่ ที่สอนเน้นการสอนพุทธประวัติ พิธีกรรมทางศาสนา การสั่งสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมีคุณภาพ แต่เป็นการพลิกความคิดและพฤติกรรมในตัวตนของเยาวชนน้อยไป ผลที่ได้จึงปรากฎในพฤติกรรมการไหว้ การพูดไพเราะมากกว่าการพลิกความคิดให้ยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต
2.6 ครูพระมีผลให้ผู้บริหาร และครูอาจารย์ในโรงเรียนสำรวมมากขึ้น
2.7 ความคุ้นทุน (cost-effectiveness) เมื่อพิจารณาการลงทุนโดยงบประมาณใน ๒ ปี ที่ผ่านมาและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้นับว่าคุ้มทุนทั้งนี้โครงการได้อาศัยทรัพยากร ที่มีอยู่ในโรงเรียน ในวัด และในชุมชนเพื่อเกื้อหนุนโครงการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทุกเรื่อง
2.8 ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์อันเป็นรูปธรรมของโครงการ ประทับใจในตัวครูพระและการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ลดความก้าวร้าวพูดจาสุภาพถูกกาลเทศะและความรู้ทางพุทธศาสนาที่ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องได้รับ
ผลการเปรียบเทียบการสอน โดยมีสมมุติฐานว่า พระสงฆ์ผู้มีความรู้ความชำนาญในหลักธรรมคำสอน มีศีลาจารวัตรที่น่าเลื่อมใส ย่อมจะสอนให้นักเรียนมีความเชื่อความศรัทธาในหลักของพระพุทธศาสนาได้มากกว่า หรือดีความครูที่เป็นบุคคลธรรมดา และหากเด็กนักเรียนมีความเชื่อความศรัทธาในหลักของพระพุทธศาสนาแล้วก็ย่อมจะประพฤติ ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ได้มากขึ้นด้วย
ผลการตรวจสอบสมมุติฐานนี้ พบว่าการสอนของพระ (Monk) มีผลต่อความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา (Action) อย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าการสอนของพระมีผลแตกต่างจากการสอนของครูธรรมดา ทั้งในเรื่องของความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติทางพุทธศาสนา โดยกลุ่มนักเรียนที่เรียนกันครูพระจะมีคะแนนสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนกันครูธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญนอกจากนี้ ความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) และการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา (Action) ยังมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนา (belief) ก็จะการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากขึ้นด้วย เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
ในส่วนของตัวแปรที่เกี่ยวข้องคือ เพศ (sex) ระดับการเรียน (class) และสายการเรียน (type) ก็พบว่ามีความสัมพันธ์ดังนี้
เพศ (sex) ไม่มีความสัมพันธ์ความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) แต่ว่ามีความสัมพันธ์ทางลบกับการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) แสดงว่ากลุ่มนักเรียนหญิงและนักเรียนชายมีความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) ไม่แตกต่างกัน แต่ว่านักเรียนหญิงมีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่านักเรียนชาย เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ร่วมกับตัวแปรอื่นก็พบว่า เพศ (sex) ไม่เกี่ยวข้องต่อการสอนของครูพระ (Monk) แต่เกี่ยวข้องทางกับระดับการเรียน (class) และสายการเรียน (type) กล่าวคือ นักเรียนหญิงที่ได้เรียนกับครูพระจะมีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่านักเรียนชาย โดยเฉพาะในระดับมัธยมต้น และนักเรียนสายสามัญศึกษา
ระดับการเรียน (class) มีความสัมพันธ์ความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) และมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา (Action) แสดงว่า กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีคะแนนทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนา (belief) และการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ร่วมกับตัวแปรอื่นก็พบว่าเกี่ยวข้องกับตัวแปร เพศ (sex) คือ นักเรียนหญิงในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะปฏิบัติทางพุทธศาสนามากกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ว่าไม่เกี่ยวข้องต่อการสอนของครูพระ (Monk) และไม่เกี่ยวข้องกับสายการเรียน (type)
สายการเรียน (type) มีความสัมพันธ์ความเชื่อในพระพุทธศาสนา (belief) โดยมีค่าความสัมพันธ์ เท่ากับ .48 และมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา (Action) โดยมีค่าความสัมพันธ์ เท่ากับ .68 แสดงว่า กลุ่มนักเรียนสายสามัญ จะมีคะแนนทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนา (belief) และการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่านักเรียนสายอาชีพ และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ร่วมกับตัวแปรอื่นก็พบว่าเกี่ยวข้องกับตัวแปร การสอนของครูพระ (Monk) กล่าวคือ นักเรียนสายอาชีพเมื่อได้เรียนกับครูพระแล้ว ก็จะมีคะแนนทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนา (belief) และการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่านักเรียนสายสามัญ นอกจากนี้ สายการเรียน (type) ยังเกี่ยวข้องกับเพศ (sex) ด้วย คือนักเรียนหญิงที่เรียนสายสามัญจะมี การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา (Action) มากกว่าในสายอาชีพ แต่ไม่พบว่า สายการเรียน (type) เกี่ยวข้องกับ ระดับการเรียน (class)
ผลการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ จากสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา พบว่า
1. ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ผู้บริหารและครูจะต้องยึดหลักการส่งเสริม ให้ความสำคัญในการสอนศีลธรรม จริยธรรม มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและแผนงานในด้านการสอนศีลธรรม จริยธรรม ผู้บริหารต้องจัดและพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ให้เอื้ออำนวยต่อการปลูกฝังและเสริมสร้างจริยธรรม และเป็นที่ยอมรับว่าครูพระเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนด้วย ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการส่งเสริมการใช้สื่อ นิเทศและทำงานร่วมกับครูพระ ผู้บริหารจะต้องสามารถนิเทศการเรียนการสอนทั้งครูพระ และครูทั่วไปได้พร้อม ๆ กัน ด้วย
2. ปัจจัยด้านครูผู้สอน คือ ความรู้ และประสบการณ์การสอนของครูพระ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ครูพระยังขาดประสบการณ์สอนในโรงเรียน บางท่านอาจจะมีประสบการณ์เทศนา หรือเป็นวิทยากรตามสถาบันต่าง ๆ แต่ว่าไม่ได้มีความรับผิดชอบดูแลพฤติกรรมของเด็กโดยตรง การเตรียมการสอนของครูพระ จะต้องให้ครูพระทราบบทบาท หน้าที่ล่วงหน้า ว่าจะให้เด็กเรียนรู้อะไร มากน้อยเพียงใด และให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่ต้องการโดยวิธีการใดได้บ้าง
3. ปัจจัยด้านหลักสูตรและวิธีจัดการเรียนการสอน เป็นการจัดองค์ประกอบของการเรียนการสอนให้มีความสัมพันธ์กัน เพื่อสะดวกต่อการนำไปสู่จุดหมายปลายทางการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ และได้กล่าวถึงความสำคัญของระบบการเรียนการสอนไว้ มีการปรับหลักสูตรสถานศึกษา ใช้การสอนแบบสอดแทรก พุทธธรรมในวิสัยทัศน์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยร่วมมือกันสอนทั้งครูพระและครูทั่วไป ทั้งนี้ ครูพระจะเพิ่มเติม คุณธรรม จริยธรรม ในผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยครูทั่วไปจะใช้วิธีการสอนแบบสอดแทรกลงในสาระวิชาต่าง ๆ และมีการพัฒนาผู้เรียน เช่นใช้กิจกรรมวันสำคัญของชุมชน โดยบูรณาการในการเรียนรู้ บูรณาการในชีวิตประจำวัน และบูรณาการหลักไตรสิกขาในชีวิตประจำวัน
ผลการวิจัยนี้ ทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. ควรมีการส่งเสริมการสอนศีลธรรม จริยธรรมอย่างจริงจัง โดยจัดให้โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน นี้เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะว่าสอดคล้องกับนโยบายของ คสช. และของรัฐบาล
2. ในการดำเนินโครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนนั้น ควรให้จัดมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง มีหน้าที่กำกับดูแลในรูปแบบของทวิภาคี ในลักษณะ Consortium ที่มีพันธกิจชัดเจน โดยไม่ใช่งานฝากของหน่วยงานอื่น ๆ มีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายโครงการตามสถานภาพความเป็นจริง เพื่อกำหนดงบประมาณที่เหมาะสมกับการส่งครูพระเข้าไปปฏิบัติงาน
3. กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีการปรับหลักสูตรทุกช่วงชั้น ในด้านวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนและให้ครูพระได้เข้าไปสอนในโรงเรียนได้
4. สถานศึกษาควรส่งเสริมการสอนของครูพระโดยจัดสิ่งอำนวยในการสอนที่จำเป็นให้แก่ครูพระ
5. ครูพระที่จะไปสอนศีลธรรมในโรงเรียน ควรศึกษาภารกิจหน้าที่ของครูให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสม ควรทำความเข้าใจหลักสูตรในภาพรวมด้วยเพื่อให้เกิดการสอนที่มีการบูรณาการได้
แสวง ทวีคูณ (2559) การติดตามประเมินผลนโยบายการสอนศีลธรรม จริยธรรม โดยพระภิกษุ สามเณร ในสถานศึกษา กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น